คุณเคยใช้เวลาเพื่อถามคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วหรือยัง ? บางทีการเป็นผู้บริหารอาจจะถูกบังคับด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียด แบกความรับผิดชอบไว้บนบ่า จนได้ยินเพียงแค่เสียงของตัวเองเท่านั้นที่คอยสั่งการว่าต้องทำสิ่งใด จนบางทีอาจลืม “เสียงของคนรอบข้าง” หรือนี่อาจเป็นอุปสรรคชิ้นโตต่อความสำเร็จด้านการทำงาน รวมถึงคุณสมบัติที่บกพร่องไปในฐานะผู้นำองค์กร
ข้อมูลจากงานวิจัยของ Adam Bryant and Kevin Sharer ในหัวข้อ Are you Really Listening ? ที่เขียนลงในนิตยสารชื่อดังอย่าง Harvard Business Review ว่า ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่มักติดกับดักตัวเองอยู่ใน “ฟองสบู่ข้อมูล หรือ Trapped in a Bubble ” ซึ่งมาจากความมั่นใจที่มากเกินไปและแนวคิดที่ล้าสมัยเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของตนเอง จึงมองข้ามการเป็น ผู้ฟังที่ดี ให้กับลูกทีม ดังนั้น เราจะมาหาวิธีหลุดพ้นจาก ฟองสบู่ข้อมูล เหล่านี้ได้ด้วยหลักการ 7 Useful Steps ที่จะช่วยให้ผู้นำองค์กรหลุดพ้นจากฟองสบู่ข้อมูลของตนเอง และก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
Protect against blind spots : การป้องกันจุดบอด
Kelly Grier ประธานและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Americas ที่ Ernst & Young ได้แจ้งกับลูกทีมเธอว่า พวกเขาจำเป็นต้องแจ้งข้อมูลให้เธอทราบอยู่เสมอ เพราะเธอเชื่อว่า “การที่ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมที่ลูกทีมสามารถแสดงความเห็นหรือท้าทายคุณในฐานะผู้นำได้ แสดงว่าคุณอยู่ในที่ที่อันตรายมาก เพราะคุณจะมีจุดบอด” Grier ส่งข้อความนี้ให้ลูกทีมอยู่เป็นประจำ เพื่อย้ำว่า ความเห็นของลูกทีมมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยเธอพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปได้ รวมถึงสามารถ ป้องกันจุดบอด ให้กับเธอในฐานะผู้นำได้
De-emphasize hierarchy : ทำลายกำแพงแห่งชนชั้นหรือตำแหน่งหน้าที่
Mark Templeton ประธานและ CEO ของ Citrix ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2558 ได้ใช้แนวทางปฎิบัติเพื่อให้แน่ใจว่า พนักงานของเขาจะไม่ถูกข่มขู่โดยตำแหน่งหรือยศ โดยเขาจะให้ความสำคัญในฐานะตัวบุคคลมากกว่าตำแหน่งหน้าที่ ทุกคนในบริษัท Citrix สามารถแสดงความเห็นหรือโต้แย้งได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด
Give permission to share bad news : ให้อิสระกับพนักงานในการแจ้งข้อมูลเชิงลบ
Penny Pritzker รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาของปี 2013 – 2017 ได้เข้าพบกับผู้สมัครงานเป็นครั้งแรก และได้ย้ำถึงความสำคัญของการแจ้งปัญหาต่าง ๆ ให้กับเธอ เธอกล่าวว่า “เหตุผลที่จะทำให้คุณถูกไล่ออก อย่างแรกเลย คือการโกหก โกง หรือขโมย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความผิดไม่แพ้กัน คือถ้าคุณมีปัญหาและเก็บมันไว้คนเดียว ” Pritzker เชื่อว่า เหตุผลที่พนักงานไม่ยอมข้อมูลทั้งหมดกับหัวหน้า เพราะพวกเขาไม่ต้องการบอกในสิ่งที่หัวหน้าไม่อยากได้ยิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมากสำหรับการเป็นผู้นำ และต้องรีบแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นของลูกทีมให้ไวที่สุด
Create an early-warning system : สร้างระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า
Anand Chandrasekher CEO ของ Aira Technologies ได้สร้างกฎง่าย ๆ ให้กับทีมงานของเขา คือ “ หากคุณมีข่าวร้าย ส่งข้อความหาฉัน หากคุณมีข่าวดีแบ่งปันกับฉันด้วยตนเอง ” Chandrasekher จึงปลูกฝังให้ลูกทีมเรียนรู้ ระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า หากลูกทีมของเขาได้รับข่าวร้ายตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ให้รีบแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องตื่นตระหนกกับข่าวร้าย และ หาหนทางแก้ไขได้ทัน และนี่เป็นอีกวิธีการที่จะช่วยให้ลูกทีมไม่กลัวที่จะต้องบอกข่าวร้ายให้กับหัวหน้า
To encourage problem-solving, acknowledge progress : เป็นกำลังใจในการแก้ปัญหา และ รับทราบความคืบหน้า
Paul Kenward กรรมการผู้จัดการของ British Sugar พบกับกลุ่มพนักงาน มักจะถามถึงสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำ และ Kenward จะตั้งคำถามต่อว่า “ ตอนนี้ลองนึกภาพว่าเราอยู่ด้วยกันห้าปีต่อจากนี้ ตอนนี้เราภูมิใจอะไร? คุณอยากประสบความสำเร็จอะไรจริง ๆ หรือธุรกิจจะเปลี่ยนไป’” คำถามเหล่านี้จะทำให้พนักงาน สามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาพบในปัจจุบันได้ง่ายขึ้น เป็นวิธีง่ายๆ แต่ฉลาด : ถามผู้คนก่อนว่าพวกเขาภูมิใจที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมาอย่างไร แล้วค่อยวางแผนถึงความสำเร็จในอนาคตร่วมกัน
Listen without judgment or an agenda : ฟังโดยไม่มีการตัดสินหรือวาระ
Joel Peterson อดีตประธานของ JetBlue Airways และผู้ก่อตั้ง Peterson Partners ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุน กล่าวว่า “คุณไม่สามารถมีวาระ หรือมีกำหนดการของตัวเองในขณะที่ฟังใครสักคน สิ่งที่คุณกำลังทำคือ กำหนดคำตอบของคุณ แทนที่จะประมวลผลสิ่งที่อีกฝ่ายพูด” การฟังที่ดี คุณจะต้องไม่ตัดสินหรือเอาอีโก้ของตัวเองเป็นที่ตั้ง วิธีการที่ผู้นำสามารถช่วยตัวเองหลีกเลี่ยงอันตรายนั้นได้ คือการเตือนตัวเองถึงคำย่อง่ายๆ ทุกครั้งที่กำลังฟัง : WAIT “ทำไมฉันถึงพูด”สิ่งที่กำลังจะพูดสำคัญขนาดไหน ถ้าไม่ จงรอและตั้งใจฟังไปก่อน
Actively seek input : ค้นหาข้อมูลอย่างกระตือรือร้น
เพียงแค่พยายามรับข้อมูลจากลูกทีมอาจไม่เพียงพอ คนที่เป็นผู้นำจะต้องลงทุนเวลาและพลังงานในค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น การเดินสำรวจหาข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ ในองค์กร หรือพบปะกับกลุ่มเล็กๆ จากแผนกและระดับต่างๆ ซึ่งอาจใช้เวลานาน แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในงานของคุณในฐานะผู้นำ หากคุณติดอยู่กับความคิดแบบหอคอยงาช้าง ที่รอแต่จะให้คนนำข้อมูลมาส่งถึงที่ จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการรับรู้ของคุณกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในองค์กร
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : https://hbr.org/2021/03/are-you-really-listening