5 Dysfunctions of a Team BY Patrick Lencioni
รู้จักกับ ” 5 Dysfunctions of a Team ” ปัจจุบันการทำงานเป็นทีม เป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลลัพธ์และความสำเร็จให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของโครงการและเป้าหมายต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ทีมในองค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เพราะติดอยู่ในหลุมพรางที่ทำให้การทำงานเป็นทีมไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
และนี่คือสิ่งที่ Patrick Lencioni ได้นำเสนอในหนังสือของเขาที่ได้กล่าวถึง 5 อุปสรรคหรือหลุมพรางที่ทีมต้องเผชิญและแก้ไขเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับหัวหน้าทีมมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาบริหารทีม การทำความเข้าใจและแก้ไขหลุมพรางทั้ง 5 ประการนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ และนำทีมไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง
Patrick Lencioni’s แสดงถึง 5 หลุมพราง ที่ทำให้ทีมขาดประสิทธิภาพ ได้แก่ การขาดความเชื่อใจ กลัวความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ขาดความมุ่งมั่น และไม่ใส่ใจผลลัพธ์ของทีม ซึ่งหลุมพรางเหล่านี้ทำให้สมาชิกในทีมไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างเต็มที่ “ หัวหน้าทีมมือใหม่ที่เข้ามาบริหารทีม ” ควรเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อใจและความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมั่นคง
1. ขาดความเชื่อใจในทีม (Absence of Trust)
ความเชื่อใจ (Trust) เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานร่วมกันในทีม หากสมาชิกทีมไม่ไว้ใจกัน จะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก และความเชื่อใจนั้น เป็นสิ่งที่ต้องสร้างจากการเปิดใจให้คนในทีม และยอมรับความผิดพลาดของกันและกัน แต่เมื่อทีมขาดความเชื่อใจ สมาชิกในทีมมักจะปกปิดข้อผิดพลาด ไม่กล้าที่จะเปิดเผยปัญหาที่เกิดขึ้น หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น
- สมาชิกทีมมักจะปกปิดข้อผิดพลาดของตัวเอง
- ไม่กล้าที่จะขอหรือให้ความช่วยเหลือคนในทีม
- ไม่กล้า Feedback กันอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา
หัวหน้าทีมมือใหม่ควรทำความเข้าใจว่า ความเชื่อใจไม่ได้สร้างได้ทันที แต่ต้องสร้างผ่านการเปิดใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน และการแสดงออกถึงความตั้งใจดี เมื่อทีมเริ่มเชื่อใจซึ่งกันและกันมากขึ้น จะทำให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
2. การกลัวความขัดแย้ง (Fear of Conflict)
การขัดแย้งหรือการถกเถียงเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการเติบโตของทีม แต่หลายครั้งทีมมักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความไม่ลงรอย หรือส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการทำงานที่ดี การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนั้นจะทำให้ปัญหาที่ค้างคายังคงอยู่ และส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ในการทำงานของทีม
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งภายในทีม
- การสนทนาแค่แบบผิวเผินเท่านั้น ไม่กล้าลงลึก
- ปัญหาที่มีในทีม ถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการแก้ไข
หัวหน้าทีมมือใหม่จำเป็นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกความขัดแย้งที่เป็นเรื่องเลวร้าย การถกเถียงเชิงสร้างสรรค์สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และทำให้ทีมมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแนวทางในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
3. การหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ (Avoidance of Accountability)
ความรับผิดชอบ (Accountability) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมสามารถพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อทีมขาดความรับผิดชอบ สมาชิกทีมจะไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่มุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายของทีมอย่างเต็มที่
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น
- สมาชิกในทีมรู้สึกไม่เดือดร้อนกับผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
- เกิดความผิดพลาดในการทำงาน หรือทำงานเกินเดดไลน์บ่อยครั้ง
- ทำงานเสร็จ แต่ขาดการรีวิวผลงานร่วมกับคนในทีม
การสร้างความรับผิดชอบในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หัวหน้าทีมต้องใส่ใจ หัวหน้าทีมมือใหม่ควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และตรวจสอบความคืบหน้าในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกทีมรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน
4. ขาดความมุ่งมั่น (Lack of Commitment)
การขาดความมุ่งมั่น (Commitment) เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้ทีมไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ หากทีมไม่มุ่งมั่นในการทำงาน จะทำให้เป้าหมายและทิศทางของทีมไม่ชัดเจน และการตัดสินใจในการทำงานจะไม่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น
- มีการวางเป้าหมายและลำดับความสำคัญของงานไม่ชัดเจน
- มักจะชอบลังเล เมื่อต้องมีการตัดสินใจ
- ทำงานเสร็จแล้วปล่อยจอย ไม่ติดตามผลลัพธ์งานตัวเอง
หัวหน้าทีมมือใหม่ ควรกระตุ้นให้ทีมมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงาน ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกทีม การติดตามความคืบหน้าในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ทีมรู้สึกมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
5. ไม่ใส่ใจผลลัพธ์ของทีม (Inattention to Results)
การไม่ใส่ใจผลลัพธ์ของทีม (Inattention to Results) คือ การที่สมาชิกทีมมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับทีม การที่สมาชิกทีมสนใจแต่ความสำเร็จส่วนบุคคล จะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบ และอาจทำให้ทีมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น
- มองเป้าหมายและงานส่วนตัว สำคัญเป็นอันดับแรก
- ไม่มีการชี้วัดความสำเร็จ ทำเสร็จแล้วจบ
- โฟกัสแค่งานตัวเองออกมาดี ไม่ได้สนใจเป้าหมายของทีมเท่าที่ควร
การสร้างความสำคัญให้กับ Result ของทีม เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้สมาชิกทุกคนตระหนักถึงเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเอง การมองเห็นถึงความสำคัญของความสำเร็จในระดับทีมจะช่วยสร้างความสามัคคีและทำให้ทีมทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวหน้าทีมต้องเน้นให้เห็นว่าความสำเร็จของทีม คือความสำเร็จของทุกคน ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับ
เมื่อเข้าใจ 5 หลุมพรางของทีมแล้ว หัวหน้ามือใหม่ควรเริ่มต้นบริหารทีมอย่างไร ให้กลายเป็น Super Team ที่สร้างผลลัพธ์ และเกิดบรรยากาศที่่ดีในการทำงาน ทุกคนในทีมมี Productivity เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดขององค์กร ?
Adaptive Leadership Series
ยกระดับหัวหน้ามือใหม่จากเก่งงาน สู่ศักยภาพที่สูงกว่า ด้วยการบริหารทีม
พัฒนาทักษะความสามารถของหัวหน้ามือใหม่ ปิดช่องโหว่ปิดปัญหาของทีม ด้วยการเรียนรู้การสร้างความไว้วางใจ การบริหารจัดการความขัดแย้ง และ Empower ทีม ให้เกิดความมุ่งมั่นอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างผลลัพธ์ให้กับทีม เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายระดับองค์กร พัฒนาหัวหน้ามือใหม่ คลิก!