การเผชิญความกดดัน สถานการณ์ที่ตึงเครียดในองค์กร เป็นสิ่งที่ผู้นำหรือหัวหน้าจะรับมือให้ได้ เพื่อเป็นแบบอย่างและที่พึ่งให้กับลูกทีม ผู้นำหลายคนตกม้าตาย เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม เมื่อต้องเจอกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา จนกลายมาเป็นความสั่นคลอนภายในทีม ที่ไม่มีเสาหลักในการพาฝ่าวิกฤติองค์กรในแต่ละครั้ง
World Economic Forum เผยแพร่ข้อมูล “ Top 10 Skills Of 2025 ทักษะที่จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำงานองค์กรปี 2025 ” และหนึ่งใน 10 ทักษะที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากคือ Emotional Intelligence ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ ถือเป็นทักษะที่ผู้นำต้องมี เพื่อที่จะบริหารอารมณ์ของตนเอง สร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับลูกทีม เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ที่องค์กรจะต้องพบเจอในอนาคต
ในบทความนี้ได้นำ Framework : RULER หรือ “กฎไม้บรรทัด” จากส่วนหนึ่งของหลักสูตร Emotional Intelligence มาฝากเหล่าผู้นำองค์กร เพื่อนำไปปรับใช้ในการบริหารอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม และเป็นผู้นำที่ลูกทีมไว้วางใจให้บริหารงานในองค์กร
R: Recognizing คุณรู้สึกอย่างไร ?
ก่อนที่เราจะสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ จะต้องรู้ก่อนว่า เรารู้สึกอย่างไร ? เพราะการตระหนักรู้ (Recognizing) คือ กุญแจสำคัญเพื่อเข้าใจอารมณ์ของเราและผู้อื่น
วิธีการตระหนักรู้ คือ คุณลองมองตารางด้านบนและค้นหาว่า พลังงานและความสุข ของคุณอยู่ในช่องใด เพราะบางครั้งเรามีความสุขแต่พลังงานต่ำ หรือ พลังงานสูงเพราะโกรธ แต่กราฟความสุขของคุณต่ำ ฉะนั้น ลองมองที่ตารางด้านบนแล้ววิเคราะห์อารมณ์ของคุณเอง
U: Understanding เข้าใจว่าทำไม ถึงต้องรู้สึกเช่นนี้ ?
เมื่อเรารู้แล้วว่า ตนเองกำลังรู้สึกเช่นไร สิ่งต่อไปคือ เข้าใจความรู้สึกของตนเอง ว่าทำไมเราถึงรู้สึกเช่นนี้ เช่น เมื่อคุณรู้สึกโกรธ คุณต้องเข้าใจถึงสถานการณ์หรือสิ่งที่คุณทำลงไปก่อนเกิดความรู้สึกนี้ และอะไรคือสาเหตุของความโกรธที่คุณมีอยู่ เป็นต้น ลองวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ดู และจะเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการหาข้อมูลและไม่ตัดสิน
L: Labeling ระบุอารมณ์ของคุณ ?
เมื่อคุณเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ณ ขณะนั้นดีแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การระบุอารมณ์ เช่น เมื่อคุณสบายดี เท่ากับว่า คุณกำลังมีความสุข หรือถ้าคุณรู้สึกว่า เรื่อย ๆ อาจจะแปลว่า คุณกำลังรู้สึกสงบ หรือ เบื่อ เป็นต้น
E: Expressing คุณแชร์ความรู้สึกออกมาได้ไหม ?
คุณต้องหมั่นแชร์ความรู้สึกของคุณออกมา แต่ไม่ใช่เป็นการใส่อารมณ์กับผู้อื่น อาจจะเป็นการหาโอกาสเพื่อพูดคุยกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว เช่น คุณรู้สึกอะไรอยู่ ทำไมคุณถึงรู้สึกเช่นนี้ จะทำอะไรต่อไป และคุณต้องการอะไรจากผู้อื่น เป็นต้น
R: Regulation ควบคุมความสมดุลของอารมณ์ ?
ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการปรับสมดุลของอารมณ์ ป้องกันไม่ให้ไหลไปตามอารมณ์ของผู้อื่น อย่างเช่น เมื่อผู้อื่นพูดจาหยาบคาย หรือไม่เข้าหูคุณ ก็เพียงแค่สูดหายใจเข้าลึก ๆ และเดินตัดสินใจเดินออกห่าง เมื่อคุณรู้สึกไม่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องทนฟัง หรือไปตอบโต้ด้วยอารมณ์ที่รุนแรงของคุณ