หัวหน้ามือใหม่ Feedback ให้ตรงไปตรงมาอย่างไรให้ได้งาน ได้ใจ ทีมงานพัฒนาไว ไม่ผิดใจกัน
อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย “เมื่อหัวหน้ามือใหม่ต้อง feedback ลูกน้องอย่างตรงไปตรงมา” เพราะเสี่ยงไม่เข้าใจกัน ความสัมพันธ์ขัดแย้ง! แต่ก็ต้องยอมรับว่าการ Feedback อย่างตรงไปตรงมาคือหนึ่งเครื่องมือสำคัญ พัฒนาทีมงานให้เก่งขึ้น องค์กรเติบโต
- การ Feedback มีความสำคัญต่อหัวหน้ามือใหม่อย่างมาก ช่วยให้ทีมงานได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมหรือการทำงานให้ดีขึ้น มีการพัฒนา เติบโตก้าวหน้าในอาชีพ
- หัวหน้าควรตั้งเป้าหมายและความคาดหวังให้ชัดเจนตามหลัก SMART GOAL และสื่อสารกับทีมงานให้เข้าใจตรงกัน
- สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการอธิบาย คาดการณ์การตอบสนอง มุ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริง
- เลือกเวลา Feedback อย่างเหมาะสม จะแนะนำทีมงานหลังจากพบปัญหาทันที หรือรอให้จบงานก่อนแล้วค่อยคุย หรือจะรอให้ครบปีค่อยแนะนำทีเดียว
- หัวหน้าควรเตรียมเทคนิคหรือคำแนะนำให้ทีมงานได้ใช้เป็นหลักในการปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเอง
- หัวหน้าควรนัดคุยกับทีมงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสอบถามความคืบหน้า ทบทวนสิ่งที่ได้พูดคุยกันไป
ทำไมผู้นำต้อง Feedback อย่างตรงไปตรงมาให้เป็น
การให้ Feedback กับทีมงานคือหนึ่งทักษะพื้นฐาน ที่หัวหน้ามือใหม่ทุกคนต้องมี เพราะช่วยให้ทีมงานได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมหรือการทำงานให้ดีขึ้น มีการพัฒนา เติบโตก้าวหน้าในอาชีพ อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่น ความเคารพ ให้เกียรติและความเข้าใจกันระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมในองค์กร ที่เน้นความโปร่งใส เน้นการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อต้อง Feedback ในเรื่องที่ยาก ต้องพูดตรงไปตรงมา เตรียมตัวอย่างไรดี
การเตรียมความพร้อมสำหรับ Feedback ทีมงาน หัวหน้ามือใหม่ควรเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เจอทีมงานเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าหมายและความคาดหวังให้ชัดเจนตามหลัก SMART GOAL และสื่อสารกับทีมงานให้เข้าใจตรงกัน
- หัวหน้าคาดหวังให้ทีมงานแสดงพฤติกรรมอะไรบ้างระหว่างทำงาน
- ลูกน้องต้องทำงานแบบไหน ทำกับใคร ตัวเลข KPI เป็นอย่างไร
เมื่อตั้งความคาดหวังเสร็จแล้ว พอถึงเวลา Feedback สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือ สิ่งที่จะประเมินทีมงาน รวบรวมตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการอธิบายในประเด็นของหัวหน้า คาดการณ์การตอบสนอง มุ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริง พฤติกรรม ไม่ใช่บุคลิกภาพหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น
Feedback อย่างไร ให้ถูกที่ถูกเวลา
เลือกเวลา Feedback อย่างเหมาะสม ช่วยลับคมทีมงานให้เก่งแบบเห็นผลลัพธ์ หัวหน้าต้องมองให้ขาดว่าควรแนะนำทีมงานหลังจากพบว่าทีมงานมีปัญหาทันที หรือรอให้จบงานก่อนแล้วค่อยคุย หรือจะรอให้ครบปีค่อยแนะนำทีเดียว ไม่มีคำตอบว่าช่วงไหนดีที่สุด แต่สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดว่าควรเลือกเวลาใด นอกจากนี้ยังมีเรื่องสถานที่ หัวหน้าควรเลือกสภาพแวดล้อมที่ไม่เครียด ไม่กดดันเกินไป เป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นกลาง เปิดโอกาสให้หัวหน้า-ลูกน้อง พูดคุยกันได้อย่างเต็มที่
ให้ข้อเสนอแนะหลังการ Feedback
การ Feedback ที่ดี นอกจากจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ได้เห็นด้วยไปกับทุกเรื่อง ยกเหตุการณ์มาอ้างอิงอธิบายได้อย่างเห็นภาพและไม่ใช้อารมณ์ ถอดอคติทิ้งไปแล้วนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ต้องมีทางออกให้แก่ทีมงานด้วย” หัวหน้าควรเตรียมเทคนิคหรือคำแนะนำให้ทีมงานได้ใช้เป็นหลักในการปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเอง สื่อสารอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
Feedback แล้วอย่าปล่อยปะละเลย ควรติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
การ Feedback ที่เห็นผลลัพธ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรก หัวหน้าควรนัดคุยกับทีมงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสอบถามความคืบหน้า ทบทวนสิ่งที่ได้พูดคุยกันไป มีปัญหาหรือข้อสงสัยใดเพิ่มเติม จะได้รีบสื่อสารต่อกัน สร้างความมั่นใจทั้งตัวหัวหน้าและทีมงานว่าจะสามารถพัฒนา เติบโต อุดรอยรั่ว เสริมจุดแข็งได้ตามที่ commitment กันไว้ โดยระยะเวลาในการนัดหมาย หัวหน้าควรนัดอย่างเหมาะสม อย่าถี่จนลูกน้องรู้สึกอึดอัด
เป็นหัวหน้ามือใหม่ที่ต้อง feedback เรื่องยาก ๆ คงสร้างความกงัวลให้หัวหน้าไม่น้อย แต่ถ้าหากได้ฝึกฝนและลองลงมือปฏิบัติ นอกจากจะช่วยเสริมทักษะการสื่อสารให้หัวหน้าแล้ว ยังพัฒนาทีมงานให้เติบโต สุขภาพของทั้งทีมแข็งแรง พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ แต่ยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากเตรียมความพร้อม เห็นใจแต่ไม่ต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง มุ่งเน้นที่การพัฒนา ทั้งหมดนี้จะทำให้การ Feedback ที่ยากเปลี่ยนเป็นง่าย โปร่งใส เป็นธรรม เสริมทีมให้เก่ง เร่งองค์กรให้แกร่งได้