เมื่อเข้าสู่ยุควิกฤติที่ทุกธุรกิจพุ่งชนกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบริหารทีม เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเป็นกุญแจอันทรงพลังเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้เร็วขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยที่บางองค์กรต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการทีม ไม่มีทีมเวิร์ค ขาดการวางเป้าหมายร่วมกัน จนท้ายที่สุด ก็ต้องเผชิญกับความล้มเหลว
Patrick Lencioni ที่ปรึกษาการบริหารและประธานบริษัทผู้ก่อตั้ง Table Group ชาวอเมริกันได้นำแนวคิด “5 จุดอ่อนที่สร้างความล้มเหลวให้กับการทำงานแบบทีม” มาเขียนไว้ในหนังสือ The Five Dysfunction of a team โดยสรุปประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
ปิรามิดขั้นที่ 1 : Absence of Trust (การขาดความเชื่อใจซึ่งกันและกัน)
ไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าหรือลูกทีม สิ่งที่ต้องมีและสำคัญที่สุดเป็นลำดับแรกคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันภายในทีม กล้าที่จะปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือ หากขาดคุณสมบัติส่วนนี้ จะทำให้การทำงานร่วมกันเกิดบาดแผล ไม่ไว้วางใจกัน ไม่กล้าที่จะมอบหมายงานให้กับเพื่อนร่วมทีม ต่างคนต่างทำงานของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการทำงานลักษณะดังกล่าวนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้เป้าหมายขององค์กรสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ปิรามิดขั้นที่ 2 : Fear of Conflict (การกลัวความขัดแย้ง)
บางทีการมองความขัดแย้งเป็นเรื่องลบ ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป ยิ่งพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ไม่สามารถค้นพบปัญหาที่แท้จริง รวมถึงการค้นพบไอเดียใหม่ ๆ ได้ เพราะต่างคนต่างเก็บสิ่งที่คิดเอาไว้กับตัวเอง สิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์นั่นคือ การเปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงความเห็นกันอย่างเสรี หรือความกล้าที่จะวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ปิรามิดขั้นที่ 3 : Lack Of Commitment (การไม่ทุ่มเทกับงาน)
ในปิรามิดขั้นที่ 3 นี้จะเป็นผลกระทบที่ได้รับมาจากพฤติกรรมของ 2 ข้อแรก นั่นคือ การที่คนในทีมไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และไม่ยอมแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาเพราะกลัวความขัดแย้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การตัดสินใจทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่คน ๆ เดียวนั่นก็คือ ผู้นำทีม ที่จะต้องตัดสินใจแทน ซึ่งการตัดสินใจนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกทีมทุกคนเห็นด้วยไปเสียหมด แต่ก็เลือกที่จะปฎิบัติตาม ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นขาดสิ่งที่เรียกว่า ความทุ่มเทหรือความผูกพัน ให้กับงานที่ทำ แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ งานที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ
ปิรามิดขั้นที่ 4 : Avoidance Of Accountability (เลี่ยงความรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ตนเอง)
เมื่อขาดความมุ่งมั่นที่จะทำงานของตนเอง นั่นยิ่งทำให้การมีส่วนร่วมในงานของผู้อื่นแทบจะไม่เกิดขึ้นได้เลย เราจะไม่ให้ความสำคัญและยื่นมือเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมหากเขาเหล่านั้นทำผิดพลาด เพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งหากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายในทีม ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้
ปิรามิดขั้นที่ 5 : Inattention To Results (ไม่สนใจผลลัพธ์ของคนในทีม)
ถ้าอ่านมาถึงข้อสุดท้ายนี้จะพบว่า ในปิรามิดแต่ละขั้น ล้วนมีความเชื่อมโยงกันแทบทั้งหมด แม้กระทั่งปิรามิดขั้นที่ 5 ก็เป็นผลลัพธ์จากพฤติกรรมในปิรามิดข้อที่ 4 เช่นเดียวกัน เมื่อเราไม่เห็นความสำคัญหรือความเต็มใจที่จะช่วยเหลืองานคนอื่น ๆ ในทีม นั่นแสดงถึงว่า เราก็ไม่ได้สนใจในผลลัพธ์ของคนในทีม ไม่ว่าเขาจะทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาบ้าง สิ่งที่ให้ความสำคัญมีเพียงแค่ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองเพียงเท่านั้น หากมีความคิดเช่นนี้ขึ้น แน่นอนว่า “ความล้มเหลวในฐานะการทำงานเป็นทีม” คงไม่ไกลเกินเอื้อม