เชื่อว่าคนทำงานส่วนใหญ่เริ่มชินกับ การทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) กันบ้างแล้ว เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ก็เริ่มปรับรูปแบบการทำงานมานานพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่คุ้นชินกับการทำงานในลักษณะนี้ จนเกิดสภาวะ Burnout หรือหมดไฟในการทำงาน เครียด หดหู่ กับสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตนเองและงานที่ได้รับผิดชอบอยู่โดยตรง
การทำงานทางไกล หรือที่เรียกว่า Remote Working เป็นวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวมาจากช่วงสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากว่า พนักงานไม่สามารถปรับตัวได้ อาจเป็นเพราะกระบวนการสื่อสารภายในองค์กรที่เปลี่ยนไป หรือสภาวะแวดล้อมไม่เอื้อต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเหตุผลใด ล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรต้องรีบแก้ไขให้ไวที่สุด ไม่เช่นนั้น อาจจะเสียทั้งตัวงานและบุคลากรไปในเวลาเดียวกัน
ปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไร ? บทความนี้ได้นำส่วนหนึ่งของเนื้อหา หลักสูตร Effective Remote Working ที่เกี่ยวกับวิธีการทำงานรูปแบบ Remote Working อย่างไรให้มีความสุข มาเผยแพร่ให้ผู้นำองค์กรยุคใหม่ได้นำเทคนิคดี ๆ ไปปรับใช้กับพนักงานของตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะความเครียดของพนักงานที่ต้องทำงานทางไกล (Remote Working)
เทคนิค Pomodoro 25+5
เทคนิค Pomodoro 25+5 จะเป็นการช่วยลดภาวะ Burnout ได้เป็นอย่างดี เพราะสมองจะได้โฟกัสกับสิ่งที่ทำโดยไม่วอกแวกไปกับงานอื่น ๆ จนหลุดสมาธิ รวมถึงมีช่วงเวลาพักผ่อนให้กับสมองอยู่เป็นระยะ ทำให้การทำงานที่บ้านเป็นไปอย่างสมดุลทั้งช่วงเวลาทำงานและพักผ่อน
- เริ่มต้นกำหนดถึงสิ่งที่จะต้องทำ
- จับเวลาทั้งหมด 25 นาที และโฟกัสแต่สิ่งที่เลือกทำ โดยไม่สนใจงานอื่นที่แทรกเข้ามา
- ตั้งใจทำงานที่เลือกให้สำเร็จ ห้ามวอกแวกไปกับสิ่งอื่น
- พอครบ 25 นาที ให้พักเบรก 5 นาที โดยที่เป็นการพักจริง ๆ ปลดปล่อยสมองโดยไม่ต้องคิดเรื่องงานอื่นเลย
- ทำเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนครบ 4 ครั้ง หรือประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็พักเบรกยาว 20 นาที เพื่อให้สมองผ่อนคลาย
เทคนิค IVY LEE Methodology
เทคนิค IVY LEE Methodology เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน โดยที่ต้องกำหนดไม่เกิน 6 ชิ้นงานต่อวัน เพื่อที่สมองจะได้โฟกัสงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มากเกินไป โดยเทคนิคนี้ จะให้กำหนด LIST งานขึ้นมา 6 อย่าง จากนั้นลองตั้งคำถามกับตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
- จำนวนงานต่อวันของเรา มีกี่ชิ้นต่อวัน (ระบุมาห้ามเกิน 6 ชิ้น)
- จัดลำกับความสำคัญ (งานไหนสำคัญและเร่งด่วนสุด ไล่จากมากไปหาน้อย)
- ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้เราต้องทำงาน โดดข้ามไปมา (ไม่โฟกัสไปทีละงาน)
- มีแผนสำรองไหม ในกรณีที่ทำไม่ครบ 6 อย่าง (หาแผนสำรอง กรณีที่ทำงานที่ระบุไม่ทันใน 1 วัน)
เมื่อเราสามารถระบุถึง สิ่งที่จะต้องทำ และวางแผนเพื่อที่จะทำมันให้สำเร็จโดยไม่เร่งรีบ ด้วยการหาแผนสำรอง กรณีที่ทำไม่ทัน จะช่วยให้ในระยะเวลา 1 วัน เราจะได้เนื้องานที่เราต้องการ และไม่เกิดสภาวะเครียด แม้ต้องทำงานที่บ้าน เพราะอย่างน้อยเราจะรู้ว่าตื่นมาเรามีเป้าหมายงานอะไรบ้าง ไม่ต้องมานั่งทำงานแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้จุดหมาย และทำให้เกิดอาการ Burnout ในที่สุด