จุดมุ่งหมายของการนำเสนองานไม่ว่าจะต่อลูกค้า หรือกลุ่มผู้บริหารภายในองค์กรเองก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่เสมอ คือ พฤติกรรมการรับสาร ของผู้ที่ฟังการนำเสนอของคุณ เมื่อทราบข้อมูลส่วนนี้แล้ว ก็นำไปพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้เหมาะสม
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลากหลายงานวิจัย ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า พฤติกรรมการรับสารของมนุษย์จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามความถนัดของสมอง คือ การรับรู้ด้วยภาพ รับรู้ด้วยเสียง และรับรู้ด้วยความรู้สึก หรือมีตัวอักษรย่อที่ชื่อว่า VAK Model ซึ่งจะช่วยอธิบายถึงพฤติกรรมการรับสารของมนุษย์ได้ดี และในด้วยการของการทำงาน ทฤษฎีดังกล่าวนี้ สามารถช่วยเหลือในเรื่องของการนำเสนอ (Presentation) ได้เป็นอย่างดี เพราะจะช่วยให้จัดรูปแบบการนำเสนอได้เหมาะสมกับพฤติกรรมการรับสารของลูกค้า หรือกลุ่มผู้บริหารในองค์กรได้เป็นอย่างดี
ในบทความนี้ได้นำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากเว็บไซต์ Thepeakperformancecenter และหลักสูตร One Page Summary เกี่ยวกับ VAK Model ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนทำงานในองค์กรที่จะนำความรู้ส่วนนี้ไปประยุกต์ใช้กับการนำเสนองานของตนเอง
VAK MODEL
V : Visual Learning (การรับรู้ด้วยภาพ)
ประเภทที่ 1 (Visual) จะเป็นการรับรู้ด้วยภาพ ซึ่งจะจัดอยู่ในหมวดหมู่การรับรู้รูปแบบต่อไปนี้เช่น การมองภาพ การสาธิต การดูหนัง การดูแผนภูมิต่าง ๆ
พฤติกรรมการรับสาร
- มีความสามารถมากที่สุดในด้านการเขียนและอ่าน เช่น บันทึก รูปภาพ แผนภูมิ
- สามารถจดจำใบหน้าได้ดีมากกว่าการจดจำชื่อ
- เกิดความคิดและไอเดีย เมื่อเห็นภาพ โดยเฉพาะภาพที่มีสีสัน
- สามารถสังเกตอารมณ์ได้จากสีหน้า
- กลุ่มคนเหล่านี้มักจะเป็นนักเขียนที่ดี หรือเป็น Graphic Design ที่ถนัดในด้านไอเดียการออกแบบ
A : Auditory Learning (การรับรู้ด้วยเสียง)
ประเภทที่ 2 (Audio) จะเป็นการรับรู้ด้วยเสียง ซึ่งจะจัดอยู่ในหมวดหมู่การรับรู้รูปแบบต่อไปนี้เช่น การรับฟังวิทยุ การฟังการบรรยาย การฟังที่มาจากผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ
พฤติกรรมการรับสาร
- ชื่นชอบการเรียนรู้จากการฟังผู้อื่น
- มักจะจดบันทึกได้ดี จากการฟัง
- สามารถพูดคุยในขณะที่กำลังจดบันทึกได้อยู่
- สามารถจดจำชื่อได้ดีกว่าการจำใบหน้า
- มักจะถูกรบกวนหรือเสียสมาธิจากเสียงค่อนข้างมาก เพราะเป็นคนที่รับสารประเภทเสียงได้ดี
- จดจำได้ดีจากการฟัง โดยเฉพาะการฟังเพลง
- กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นนักพูดที่ดี และอาจจะมีความสามารถพิเศษในด้านกฎหมาย
K : Kinesthetic Learning (การรับรู้ด้วยความรู้สึกและประสบการณ์)
ประเภทที่ 1 (Kinesthetic) จะเป็นการรับรู้ด้วยความรู้สึกและประสบการณ์ ซึ่งจะจัดอยู่ในหมวดหมู่การรับรู้รูปแบบต่อไปนี้เช่น การสัมผัส การรู้สึกฝึกฝนจากประสบการณ์
พฤติกรรมการรับสาร
- เรียนรู้ผ่านการสัมผัส การรู้สึก และการเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่าง ๆ
- สามารถจดจำจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ใช่รับรู้จากการมอง หรือการพูดคุย
- ชื่นชอบการทำกิจกรรม ที่ได้มีส่วนร่วม
- รักการเล่นเกมส์
ข้อมูลจาก : https://thepeakperformancecenter.com , หลักสูตร One Page Summary